วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236)LAW2036
เรื่อง สิทธิในชีวิต

            มนุษย์มีสิทธิบางประการที่ติดตัวมาแต่กำเนิดจนกระทั่งถึงแก่ความตาย ได้แก่ สิทธิในชีวิต เสรีภาพในร่างกาย และความเสมอภาค ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ และใครจะล่วงละเมิดมิได้ สิทธิเหล่านี้ คือ สิทธิตามธรรมชาติ เกิดมีมาเองโดยมนุษย์ไม่ได้ทำขึ้น เป็นสิทธิดั้งเดิม
            ต่อมามีการจัดทำปฏิญญาสากล โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาไว้ซึ่งสิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์ มาตรา 3 บัญญัติถึงสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน แต่ปฏิญญาไม่ใช่กฎหมาย เพราะไม่มีสภาพบังคับ จึงเป็นเพียงหลักการ เป็นแนวทางในการออกกฎหมาย กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในชีวิต อยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 มีผลบังคับใช้ 29 มกราคม 2540
            สิทธิในชีวิต มาตรา 6 บัญญัติว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยธรรมชาติในการดำรงชีวิต สิทธินี้ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีบุคคลใดสามารถล่วงชีวิตใครได้ แต่ถ้ารัฐใดมีความจำเป็นที่จะยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตก็สามารถทำได้ การลงโทษประหารชีวิตจะกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดเท่านั้น สำหรับผู้ที่ถูกพิจารณาโทษนั้น จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ถูกทรมานหรือลงโทษอย่างทารุณโหดร้ายและเมื่อถูกประหารชีวิตก็ควรจะใช้วิธีการที่ให้เกิดการทรมานต่อกายและจิตใจของผู้ถูกประหารชีวิตให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
            มาตรา 6 (4) ได้กำหนดให้มีการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิในชีวิตไว้อีก โดยให้มีมาตรการช่วยบรรเทาโทษไม่ให้ประหารชีวิต ด้วยการให้สิทธิร้องขออภัยโทษหรือลดหย่อนโทษ การนิรโทษกรรม เพื่อพยายามไม่ให้มีการประหารชีวิต แต่ถ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การประหารชีวิตจะต้องไม่กระทำต่อบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และจะลงโทษต่อหญิงมีครรภ์ไม่ได้
            สิทธิในชีวิตตามมาตรา 6 นี้รัฐภาคีจะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามโดยกล่าวอ้างภาวการณ์ฉุกเฉินอันมีมาเป็นสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดปลอดภัยของชาติไม่ได้ แม้ว่า มาตรา 4 จะกำหนดให้รัฐภาคีสามารถหลีกเลี่ยงพันธกรณีต่าง ๆ ได้แต่ไม่อนุญาตให้เลี่ยงมาตรา 6 นี้โดยเด็ดขาด
            ด้านกระบวนการยุติธรรม มาตรา 9 ห้ามไม่ให้มีการจับกุมหรือคุมขังโดยพลการ หากมีการจับกุมหรือคุมขังก็จะต้องได้รับการชี้แจงในเวลาอันรวดเร็วถึงเหตุผลของการถูกจับกุมหรือแจ้งข้อหา การกักขังจะทำได้ในเวลาอันจำกัดเท่าที่จำเป็นตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้ และจะต้องได้รับการพิจารณาต่อหน้าศาลยุติธรรมโดยเร็วที่สุด มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีถูกจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
            มาตรา 10 สิทธิที่จะได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีและการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ให้การคุ้มครองบุคคลที่ถูกลิดรอดเสรีภาพ โดยบุคคลที่มีหน้าที่จะต้องคอยดูแลควบคุมตามวิธีการที่กำหนดไว้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องกระทำโดยมีมนุษยธรรมและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในบุคคลแต่ละคน รัฐควรแยกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดจากผู้ต้องโทษโดยมีมาตรการในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน และควรแยกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดที่เป็นเยาวชนจากผู้ใหญ่โดยให้มีการพิจารณาคดีโดยเร็วที่สุด ระบบราชทัณฑ์ จะต้องปฏิบัติต่อนักโทษด้วยความมุ่งหมายที่จะให้กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีและเป็นการฟื้นฟูทางสังคมด้วย
            มาตรา 14 ทุกคนย่อมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการพิจารณาของศาล มีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำผิด ทุกคนมีสิทธิได้รับหลักประกันขั้นต่ำอย่างเสมอภาค เช่นมีสิทธิได้รับแจ้งข้อหาในภาษาที่เข้าใจหรือมีล่าม ผู้ถูกกล่าวหามีเวลาและความสะดวกเพียงพอเพื่อต่อสู้คดีและติดต่อทนาย ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้า เป็นต้น
            ผู้ต้องหาเด็กต้องได้รับการประกันและคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ กระบวนการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงอายุและเน้นการส่งเสริมให้กลับคืนสู่สังคม ผู้ต้องโทษมีสิทธิได้รับการพิจารณาอุทธรณ์โดยศาลสถิตยุติธรรมในระดับสูงขึ้นไป มีสิทธิเรียกการชดเชยค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่มีการดำเนินกระบวนการทางยุติธรรมที่ผิดพลาด
            มาตรา 15 บุคคลมีสิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษย้อนหลัง มาตรานี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามได้ ตามมาตรา 4
            นอกจากนี้องค์กรสหประชาชาติยังได้ผลักดัน “พิธีสารเลือกรับฉบับที่สองแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต” ถูกบัญญัติเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก พิธีสารเลือกรับฉบับที่สองฯ นี้มีเจตจำนงที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในมาตรา 6 แห่งกติกาฯ คือสิทธิในชีวิต และเป็นไปตามหลักการของมาตรา 3 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ประกาศถึงสิทธิในชีวิตเอาไว้

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236) LAW2036
เรื่อง พันธกรณี

ตามมาตรา 2 บัญญัติว่าให้รัฐภาคีรับที่จะดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อที่จะให้บุคคลในอาณาเขตของตนได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่ได้รับรองไว้ในกติกาฯนี้ โดยจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ปราศจากการแบ่งแยกใด ๆ เกี่ยวกับ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น นอกจากนี้ยังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ที่จะประกันถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงในสิทธิทั้งปวง ทั้งทางแพ่งและทางการเมือง ตามกติกานี้อีกด้วย
ถ้ามีบุคคลใดถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามที่ให้การรับรองแล้ว ก็สามารถร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกระบวนการยุติธรรมที่กำหนดไว้ภายในรัฐนั้น ๆ ได้ โดยต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ความผูกพันของรัฐตามมาตรา 2 ที่กำหนดให้รัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้แต่ละรัฐรับที่จะเคารพและให้ความมั่นใจในสิทธิต่าง ๆ ที่ยอดรับแล้วในกติกา ในทางปฏิบัติ รัฐภาคีต่างก็จะบัญญัติกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศตนให้สอดคล้องกับกติกาที่กำหนดไว้ ไม่ให้ขัดแย้งกับกติกาฯ และหน่วยงานด้านบริหาร และตุลาการ ทั้งหมด ต้องตระหนักถึงพันธกรณีของรัฐภาคีตามกติกาในอันที่จะให้เกิดผลตามนี้
แม้ว่ารัฐภาคีผูกพันที่จะต้องให้การคุ้มครองและเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่กำหนดไว้ในกติกาฯ แต่ก็มีข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามได้ คือมาตรา 4 กำหนดว่า ในภาวการณ์ฉุกเฉินอันมีมาเป็นสาธารณะ ซึ่งคุกคามความอยู่รอดปลอดภัยของชาติรัฐภาคี สามารถดำเนินมาตรการหลีกเลี่ยงพันธะที่มีอยู่ตามกติกาฯฉบับนี้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นอย่างแท้จริงต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การหลีกเลี่ยงพันธกรณีที่มีอยู่ตามกติกาฯนี้จะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่น ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐภาคีนั้นผูกพัน และจะต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
มาตรา 4 (2) ไม่ยินยอมให้รัฐภาคีหลีกเลี่ยงในการกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญบางประการ คือ มาตรา 6 สิทธิในชีวิต มาตรา 7 สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน มาตรา 8 สิทธิที่จะไม่เป็นทาส มาตรา 11 สิทธิที่จะไม่ถูกจำคุกเพราะไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาได้ มาตรา 15 สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษย้อนหลัง มาตรา 16 สิทธิที่ถือว่าเป็นบุคคล มาตรา 18 สิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา
ถ้ารัฐภาคีใดใช้สิทธิหลีกเลี่ยงตามาตรา 4 แล้ว ก็มีพันธกรณีที่จะต้องแจ้งแก่รัฐภาคีอื่น ๆ แห่งกติกาฉบับนี้ โดยทันที โดยอาศัยเลขาธิการสหประชาชาติเป็นสื่อกลาง ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงบทบัญญัติที่ตนได้หลีกเลี่ยงและเหตุผลอันก่อให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ตลอดจนวันที่รัฐนั้นยุติการหลีกเลี่ยงดังกล่าว

สรุปย่อ LAW2036 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (LAW2036)

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236)  (LAW2036)
เรื่อง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

รัฐต่าง ๆ ผูกพันตามกฎบัตรสหประชาชาติที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนประชาชนมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง มีสิทธิในการดำรงชีวิตตามปกติของตนและสามารถดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติและเสรีภาพของตนได้อย่างเสรี การยอมรับศักดิ์ศรีประจำตัวและสิทธิซึ่งเสมอกันและไม่อาจโอนแก่กันได้ สิทธิเหล่านี้มาจากศักดิ์ศรีประจำตัวของบุคคล ปัจเจกบุคคล มีหน้าที่ต่อปัจเจกชนอื่นและต่อประชาชน มีความรับผิดชอบที่จะต่อสู้เพื่อส่งเสริมและการปฏิบัติตามสิทธิที่รับรองไว้ในกติกาฯ
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2542 และมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542
ตามมาตรา 2 กำหนดไว้ในกติกาฉบับนี้ใช้ได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติชนิดใด ๆ ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่น ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาดั้งเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น นอกจากนี้ยังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ที่จะประกันถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงในสิทธิทั้งปวงดังที่ได้ระบุไว้ในกติกานี้
ความผูกพันตามพันธกรณี หมายความว่า การผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่เป็นหลักการของกฎหมายนั้น ด้วยวิธีเหมาะสมกับทรัพยากรของชาติให้เป็นประโยชน์สูงสุด และควบคู่กันไปกับการพัฒนาประเทศ และถ้าจำเป็นต้องร่วมมือ และรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วยได้ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านเทคนิค และที่สำคัญต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม
มีข้อยกเว้น ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่จะกำหนดสิทธิที่ระบุไว้ในกติกาฯ ให้แตกต่างไปได้สำหรับคนชาติอื่น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนตามสมควร เพื่อไม่ให้ประเทศที่เจริญกว่าเอาเปรียบแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่รัฐภาคีอาจควบคุมและจำกัดสิทธิที่กำหนดไว้ในกติกาฯได้ ถ้าเป็นการสอดคล้องกับลักษณะของสิทธิและเพื่อเป็นการส่งเสริมสวัสดิการของสังคม
สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีทั้งหมด 9 ประการดังต่อไปนี้
1.สิทธิที่จะทำงาน มาตรา 6 กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกทำงานได้โดยอิสรเสรี
2.สิทธิที่จะมีสภาวะการทำงานที่ยุติธรรมและเหมาะสม มาตรา 7 ให้การคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน
-          การได้ค่าจ้างที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง
-          มีสภาวะการทำงานที่ปลอดภัยและถูกพลานามัย เป็นต้น
            3.สิทธิที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ตามมาตรา 8 รับประกันสิทธิที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงานได้เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของตนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
            4.สิทธิที่จะได้รับการประกันสังคม ตามมาตรา 9 รวมทั้งการที่จะได้รับความช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคมอีกด้วย
            5.สิทธิครอบครัว มาตรา 10 เป็นสิทธิที่เน้นไปทางด้านผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ เนื่องจากครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม รัฐควรให้ความคุ้มครองตั้งแต่ชายหญิงรักกัน อยู่กินกัน เมื่อหญิงตั้งครรภ์ก็ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ สิทธิได้รับวันลาและเงินเดือน เด็กควรได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ คุ้มครองจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
            6.สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ มาตรา 11 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะปลอดจากความหิวโหย และมีมาตรฐานการครองชีพที่พอเพียง รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย
            7.สิทธิที่จะมีมาตรฐานแห่งสุขภาพที่ดี มาตรา 12 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีมาตรฐานแห่งสุขภาพทั้งทางกายและทางใจที่ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ในการนี้รวมถึงการลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอดและของเด็กแรกเกิด ป้องกันบำบัดและควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น และอื่น ๆ อีกด้วย
            8.สิทธิในการศึกษา มาตรา 13 ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นประถมให้เป็นการศึกษาภาคบังคับและเป็นแบบให้เปล่า ตามาตรา 14 ถ้ารัฐใดไม่สามารถจัดให้มีการศึกษาขั้นต่ำนี้ ในเมืองสำคัญ ๆ ได้ รัฐภาคีนั้นต้องหาทางจัดทำแผนเตรียมการให้มีการศึกษาประถมภาคบังคับแบบให้เปล่า
            9.สิทธิที่จะมีชีวิตทางด้านวัฒนธรรม มาตรา 15 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะใช้ชีวิตทางด้านวัฒนธรรม และได้รับประโยชน์จากการคุ้มครอง ประโยชน์ทางด้านศีลธรรมและทางวัตถุที่เกิดจากการผลิตทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะซึ่งตนเป็นเจ้าของ

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236) LAW2036
เรื่อง การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

1.มหากฎบัตรแมกนาคาร์ตา ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13
            พระเจ้าจอห์น (John) กษัตริย์อังกฤษ ใช้อำนาจปกครองอย่างไม่เป็นธรรม ประชาชนได้รับความเดือดร้อนพวกขุนนางและนักบวชได้ลุกขึ้นต่อต้าน และบังคับให้พระเจ้าจอห์น ลงพระนามประกาศใช้กฎหมายฉบับหนึ่งคือ “The Great Charter” หรือ “มหากฎบัตรแมกนาคาร์ตา” (Magna Carta) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1215 ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารชิ้นแรกทางประวัติศาสตร์ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 63 ข้อ มีสาระสำคัญคือ
-          พระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากที่ประชุมของพวกนักบวชและพวกขุนนางไม่ได้
-          การงดเว้นใช้หรือไม่ใช้กฎหมายบังคับแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะกระทำไม่ได้ (เข้ากับหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย)
-          ได้บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ และการเดินทางออกนอกประเทศโดยเสรี
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีก คือ “The Act of Habeas Corpus” เป็นกฎหมายฉบับที่ 2 บัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. 1679 มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
-          ถ้าบุคคลใดถูกจับกุมโดยเห็นว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกจับกุมหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องขอโดยแสดงหลักฐานต่อศาลให้ทำการไต่สวน พิจารณาว่าการคุมขังดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ได้ (เทียบได้กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตารา 90)
-          เมื่อศาลได้รับคำร้อง จะออกหมายเรียกที่มีชื่อว่า “Habeas Corpus ad Subjicidum” เพื่อเรียกผู้ที่จับกุมกักขังและผู้ที่ถูกจับกุมมาศาล เพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลว่าการจับกุมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ต่อมาได้มีการประกาศใช้กฎหมาย “The English Bill of Rights” เป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1689 กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าให้กำเนิดวิธีการพิจารณาคดีโดยลูกขุน มีสาระสำคัญดังนี้
1.ในการพิจารณาพิพากษาคดีจะดำเนินคดีโดยไม่ชักช้า
2.ห้ามเรียกหลักประกันในการประกันตัวมากเกินไป
3.ห้ามลงโทษด้วยวิธีการอันโหดร้ายทารุณ
4.รับรองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยลูกขุน

2.การประกาศอิสรภาพของอเมริกา
            แต่เดิมคนอังกฤษกับคนฝรั่งเศสเกิดข้อขัดแย้งกันในการทำการค้าขนสัตว์ จนเกิดเป็นสงคราม เรียกว่า “French and Indian War” อังกฤษต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำสงครามเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาความสงบอีก รัฐบาลอังกฤษต้องการให้ชาวอาณานิคมร่วมออกค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ โดยออกกฎหมายเก็บภาษีเครื่องแก้ว กระดาษ ตะกั่ว และใบชา ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงการต่อสู้ขยายตัวรุนแรงมากขึ้นจนทั้ง 13 มลรัฐอาณานิคมตัดสินใจแยกตัวออกจากประเทศอังกฤษ โดยได้มอบให้ Thomas Jefferson (คนผิวขาวที่ไปอยู่อเมริกา แต่เดิมอเมริกามีอินเดียนแดงอยู่) ประกาศอิสรภาพ ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ซึ่งถือเป็นวันชาติของอเมริกา ในคำประกาศอิสรภาพได้ยืนยันถึงสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ไว้อย่างชัดเจน
            ในคำประกาศอิสรภาพได้มีการกล่าวอ้างถึงทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ และแนวคิดแบบเสรีนิยม ของ John Locke และกล่าวว่ารัฐบาลต้องมาจากความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง และมีอยู่เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของมนุษย์ในสังคมเท่านั้น
            ต่อมาได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1787 จนถึงปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญที่สำเร็จอยู่ 26 หัวข้อ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับสิทธิของปัจเจกบุคคล มีการออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม 10 ฉบับแรก ซึ่งถือว่าเป็นคำประกาศว่าด้วยสิทธิของสหพันธรัฐอเมริกา ซึ่งพอสรุปข้อความที่สำคัญได้คือ
1.การอนุญาตให้ประชาชนมีและถืออาวุธได้
2.การตรวจค้นบุคคล เคหสถาน ทรัพย์สิน หรือเอกสารจะต้องมีหมายค้น
3.จำกัดขอบเขตการใช้สิทธิมิให้ล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น
4.เลิกการมีทาสและการบังคับใช้โดยไม่สมัครใจ ยกเว้นเป็นการลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

3.การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส 1789
            ในศตวรรษที่ 18 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงทำพินัยกรรมยกราชบัลลังก์ให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งใน ค.ศ.1715 ทรงมีพระชนม์เพียง 5 พรรษา ในช่วงแรกจึงต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ
            พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แม้จะทรงมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม แต่ก็ไม่ทรงสนพระทัยที่จะบริหารราชการแผ่นดิน ขาดความเป็นผู้นำ และความมั่นพระทัยในตัวพระองค์เอง ทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยจนรัฐมีหนี้สินมาก ก่อให้เกิดความอยุติธรรมในด้านการเก็บภาษี ขณะเดียวกันได้นำประเทศเข้าไปพัวพันในสงครามคั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก ในที่สุดพระองค์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ.1774 โดยทิ้งหนี้สินจำนวนมหาศาลไว้พร้อมกับท้องพระคลังที่ว่างเปล่า
            พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงสนพระทัยแต่เรื่องการล่าสัตว์ และทรงปล่องพระองค์ให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของพระมเหสี คือพระนางมารี-อองตัวแน็ต ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญญาทางการคลังอีกครั้งเมื่อฝรั่งเศสได้เข้าไปพัวพันในสงครามการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอเมริกา
            มองเตสกิเออ นักปรัชญาทางกฎหมายได้เขียนหนังสือชื่อ L’Esprit des Lois หมายถึง เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย เขาเห็นว่าควรมีสถาบันอื่น ๆ มาจำกัดการใช้อำนาจของกษัตริย์ และการใช้เสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดขอบเขตอันควร ควรมีการแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ (คืออำนาจอธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชน)
            ระบบการปกครองของฝรั่งเศสเป็นแบบเก่า การปกครองมีความสลับซับซ้อนและยุ่งเหยิงมาก ก่อให้เกิดปัญญาการบริหารบ้านเมือง ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาในเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทำให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสลุกขึ้นก่อการปฏิวัติใหญ่ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ซึ่งถือเป็นวันชาติของฝรั่งเศส โดยเข้าทำลายคุก Bastille ซึ่งกักขังนักโทษการเมือง และได้มีการจับกุมกษัตริย์ ราชินี ขุนนาง มาประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อ วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1789 สมัชชาแห่งชาติได้ประกาศใช้ “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง”

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

แบบฝึกหัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตอน2

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีของนายหนึ่ง

การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1                                                                     (หน่วย:บาท)
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 เงินเดือนสอนภาษาอังกฤษทั้งปี               960,000
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 (960,000 x 40%)              384,000                    576,000
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ทั้งปี                             1,200,000
หัก ค่าใช้จ่ายไม่ได้                                                                                      0                 1,200,000
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ค่าเช่าบ้านทั้งปี                                      120,000
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 30 (960,000 x 30%)                                          36,000                      84,000
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ค่าเช่าโรงเรือนทั้งปี                                 360,000
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 30 (960,000 x 30%)                                        108,000                    252,000
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 จากการประกอบโรคศิลป์ทั้งปี                  600,000
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 60 (600,000 x 60%)                                        360,000                    240,000
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ดอกเบี้ยสลากออมสิน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณ                     0
เหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย                                                                                           2,676,000
หัก  ลดหย่อนส่วนตัว                                                                        30,000
       ลดหย่อนภริยา                                                                           30,000
       ค่าลดหย่อนบุตร (17,000 x 2)                                                    34,000                      94,000
คงเหลือเงินได้สุทธิเพื่อคำนวณภาษี                                                                                 2,582,000

จำนวนภาษีตามการคำนวณภาษีวิธีที่ 1 คำนวณได้ดังนี้
    เงินได้สุทธิ                                    ช่วงเงินได้สุทธิ คูณอัตราภาษี                       จำนวนภาษี
    0-100,000                                    100,000 x 5% ได้รับยกเว้น                            0 บาท
100,001-150,000                             50,000 x 10% ได้รับยกเว้น                            0 บาท
150,001-500,000                                     350,000 x 10%                               35,000 บาท
500,001-1,000,000                                  500,000 x 20%                              100,000 บาท
1,000,001–2,582,000                             1,582,000 x 30%                             474,600 บาท
                                                                         รวม                                       609,600 บาท
การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2
เงินได้พึงประเมินทุกประเภทไม่รวมประเภทที่ 1 (1,200,000+120,000+360,000+600,000)     2,280,000
คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ของ 2,280,000 (2,280,000 x 0.5%) = 11,400

การคำนวณภาษีที่ต้องชำระ
ภาษีเงินได้สิ้นปีที่ต้องเสีย (ตามวิธีที่ 1)                                                                                609,000
ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่นายหนึ่งชำระไว้แล้ว                                                                                           0
ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่นางสองชำระไว้แล้ว                                                                                     7,250
คงเหลือภาษีที่ต้องชำระ                                                                                                    602,350

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

แบบฝึกหัด ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โจทย์แบบฝึกหัด ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ชุดวิชา 322447 การบัญชีภาษีอาการและการวางแผนภาษี

นายหนึ่ง และนางสอง เป็นสามีภริยากัน มีความเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตลอดปีภาษี และอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี 2553 ทั้งคู่ มีบุตรด้วยกัน 2 คน บุตรทั้งสองกำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทย บุตรคนแรกอายุ 19 ปี ศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง บุตรคนที่ 2 อายุ 9 ปี ศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษา
ในปีภาษีนี้นายหนึ่งมีเงินได้ดังต่อไปนี้
1.เงินได้จากเงินเดือนจากการสอนภาษาอังกฤษ ทั้งปี 960,000 บาท
2.เงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ เดือนละ 100,000 บาท รวมทั้งปีเป็นเงิน 1,200,000 บาท
3.เงินได้ค่าเช่าบ้าน รับจากผู้เช่า เดือนละ 10,000 บาท รวมทั้งปีเป็นเงิน 120,000 บาท
นางสองมีเงินได้ในปีภาษี ดังนี้
1.เงินได้ค่าเช่าจากการให้เช่าโรงเรียนเพาะเห็ดหอม เดือนละ 30,000 บาท รวมทั้งปี เป็นเงิน 360,000 บาท
2.เงินได้จากการประกอบโรคศิลป์ เดือนละ 50,000 บาท รวมทั้งปีเป็นเงิน 600,000 บาท
3.เงินได้จากดอกเบี้ยสลากออมสิน เดือนละ 9,250 บาท รวมทั้งปีเป็นเงิน 111,000 บาท

คำถาม: 1.นายหนึ่งและนางสองต้องนำเงินได้ต่าง ๆ ข้างต้นมายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี ในนามของผู้ใด เพราะเหตุใด
2.นายหนึ่งและนางสอง ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี และสิ้นปี เป็นเงินเท่าใด แสดงการคำนวณประกอบ

หมายเหตุ: การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ถ้าหากจำนวนภาษีตามวิธีที่ 2 มากกว่าวิธีที่ 1 และมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท ผู้มีเงินได้จะได้รับยกเว้นภาษีที่ต้องเสียตามวิธีที่ 2 แต่ยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามวิธีที่ 1 (พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 480) พ.ศ.2552)


ข้อ 1   ตอบ นายหนึ่ง และนางสองต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีในนามของนายหนึ่ง เพราะในกรณีสามีภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี และต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้ถือเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีของนายหนึ่ง

การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1                                                                     (หน่วย:บาท)
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ค่าเช่าบ้าน ครึ่งปี                                                                      60,000
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 30 (60,000 x 30%)                                                                             18,000
เหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย                                                                                                42,000
หัก ลดหย่อนส่วนตัว                                                                          15,000
     ค่าลดหย่อนบุตร (8,500 x 2) /2                                                      8,500                      23,500
คงเหลือเงินได้สุทธิเพื่อคำนวณภาษี                                                                                      18,500

จำนวนภาษีตามการคำนวณภาษีวิธีที่ 1 คำนวณได้ดังนี้
เงินได้สุทธิ                ช่วงเงินได้สุทธิ คูณอัตราภาษี                            จำนวนภาษี
0-18,500                 18,500 x 5% ได้รับยกเว้น                                0 บาท

การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ค่าเช่าบ้าน ครึ่งปี                                 60,000
คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ของ 60,000 (60,000 x 0.5%) =          300
ไม่ถึง 5,000 บาท ได้รับยกเว้น

เพราะฉะนั้น นายหนึ่งไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปี

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีของนางสอง

การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1                                                                     (หน่วย:บาท)
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ค่าเช่าโรงเรือนฯ ครึ่งปี                            180,000
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 30 (180,000 x 30%)                                          54,000                    126,000
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 การประกอบโรคศิลป์ ครึ่งปี                     300,000
หัก ค่าใช้จ่ายร้อยละ 60 (300,000 x 60%)                                        180,000                    120,000
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ดอกเบี้ยสลากออมสิน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณ                     0
เหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย                                                                                              246,000
หัก ลดหย่อนส่วนตัว                                                                          15,000
     ค่าลดหย่อนบุตร (8,500 x 2) /2                                                      8,500                      23,500
คงเหลือเงินได้สุทธิเพื่อคำนวณภาษี                                                                                    222,500

จำนวนภาษีตามการคำนวณภาษีวิธีที่ 1 คำนวณได้ดังนี้
    เงินได้สุทธิ                            ช่วงเงินได้สุทธิ คูณอัตราภาษี                          จำนวนภาษี
    0-100,000                                  100,000 x 5% ได้รับยกเว้น                            0 บาท
100,001-150,000                             50,000 x 10% ได้รับยกเว้น                            0 บาท
150,001-222,500                                      72,500 x 10%                                 7,250 บาท

การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 และ 6 (180.000 + 300,000)           480,000
คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ของ 60,000 (480,000 x 0.5%) =     2,400

เพราะฉะนั้น นางสองต้องเสียภาษีครึ่งปี ตามวิธีที่ 1 จำนวน 7,250 บาท

สรุปย่อ LAW2036 ที่มาของสิทธิมนุษยชน

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236, LAW2036)
เรื่อง ที่มาของสิทธิมนุษยชน

มาจากแนวคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติ หมายถึง กฎหมายซึ่งบุคคลอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ คือ เกิดมีมาเองโดยมนุษย์ไม่ได้ทำขึ้น เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐและใช้ได้โดยไม่จำกัดกาลเทศ
แต่เดิมมนุษย์มีชีวิตอยู่ตามสภาวะธรรมชาติไม่มีกฎระเบียบทางสังคมและการเมือง ต่อมาเมื่อมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ได้ตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และจะเคารพซึ่งกันและกัน มีข้อตกลงว่าจะเคารพเชื่อฟังผู้ปกครองที่ทุกคนยอมรับ นี่เป็นลักษณะของทฤษฎีสัญญาประชาคม และลักษณะที่สำคัญถือว่าประชาชนคือที่มาของอำนาจทางการเมืองและเห็นว่ารัฐคือสิ่งสมมุติทางกฎหมาย

ฮูโก  โกรเชียส ได้ให้คำนิยามของกฎหมายธรรมชาติว่า หมายถึง “บัญชาของเหตุผลอันถูกต้องที่ชี้ว่าการกระทำอันหนึ่งมีความต่ำทรามในทางศีลธรรมหรือมีความจำเป็นในทางศีลธรรม โดยดูจากคุณภาพของการกระทำว่าเป็นไปตามธรรมชาติ หรือชัดแย้งกับธรรมชาติที่มีเหตุผลของมนุษย์”
ตามแนวคิดนี้ กฎหมายธรรมชาติมีที่มาจากธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ต้องอาศัยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า จึงมีลักษณะเหมือนธรรมชาติของมนุษย์ คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นกฎหมายที่สากลใช้บังคับกับทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา และทุกยุคทุกสมัย
ฮูโก โกรเชียส อธิบายวิธีค้นหาเหตุผลที่สอดคล้องกับกฎหมายธรรมชาติ
1.ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ใดมีสภาพที่มีเหตุผลและสอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นกฎหมายธรรมชาติ เช่น พรบ.เวนคืน ก็เป็นกฎหมายธรรมชาติ
2.ดูข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ว่ามีลักษณะเป็นสากลของธรรมชาติไหม เช่น ชายหญิงสมรสกัน

โธมัส ฮอบส์ นักปราชญ์ชาวอังกฤษ เห็นว่า ภายใต้สภาวะที่ไม่มีสังคม มนุษย์มีแต่ความหวาดระแวงไม่มีความปลอดภัย มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ มุ่งแสวงหาประโยชน์ใส่ตนโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น มนุษย์จึงต้องการหลีกหนีสภาวะตามธรรมชาตินี้โดยมาอยู่รวมกัน มีข้อตกลงในการอยู่รวมกันอย่างสันติ นั่นคือ สัญญาประชาคม แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันเพียงพอ จึงจำเป็นต้องมอบสิทธิตามธรรมชาติของตนให้แก่บุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ทุกคน
สัญญาประชาคมประกอบด้วย สัญญา 2 สัญญา
1.สัญญาที่มนุษย์หลีกหนีสภาวะตามธรรมชาติมาอยู่ร่วมกันเป็นรัฐ
2.สัญญาที่ทำไว้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้มีอำนาจในการปกครอง มีอำนาจในการออกฎหมาย
**แนวคิดนี้การที่มีสัญญาประชาคมจะทำให้มนุษย์เสียสิทธิตามธรรมชาติ ถ้ารัฐใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎร ราษฎรก็อาจโค่นล้มได้

จอห์น ล็อก นักปราชญ์ชาวอังกฤษ เชื่อว่ามนุษย์สละละทิ้งสภาวะตามธรรมชาติด้วยเหตุผลสองประการ
1.สภาวะตามธรรมชาติ ขาดองค์กรที่กระทำหน้าที่ลงโทษผู้ละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของผู้อื่น
2.ขาดองค์กรที่กระทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันมิให้สิทธิในร่างกายและทรัพย์สินถูกล่วงละเมิด
เมื่อมนุษย์ร่วมกันทำสัญญาประชาคม ก็เพื่อมีหลักประกันความมั่นคงแห่งสิทธิตามธรรมชาติ ดังนั้นแม้ว่าประชาคมจะมีอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกประชาคมให้น้อยลงได้ แต่ย่อมไม่อาจทำลายล้างสิทธิเสรีภาพทั้งปวงของสมาชิกซึ่งเคยมีอยู่ในสภาวะตามธรรมชาติได้
**แนวคิดนี้การที่มีสัญญาประชาคมจะทำให้มนุษย์เสียสิทธิตามธรรมชาติบางส่วน ถ้าสิทธิตามธรรมชาติใดทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยปกติสุขไม่ได้สิทธินั้นต้องเสีย

จัง จาคส์ รุสโซ เห็นว่า เสรีภาพและความเสมอภาคเป็นแก่นแท้ของความสุขของมนุษย์ เมื่อมนุษย์รวมตัวกันจึงต้องคิดค้นหารูปแบบการวมตัวเป็นสังคมที่สามารถให้หลักประกันอย่างเพียงพอแก่เสรีภาพและความเสมอภาค
ทฤษฎีสัญญาประชาคมเป็นที่มาของ “อำนาจอธิปไตยของปวงชน” เกิดจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชนตามความเห็นของรุสโซ สัญญาประชาคมก่อให้เกิดผลหลายประการ ประการแรก ร่างกายชีวิต และทรัพย์สิน ได้รับการคุ้มครองจากสังคมร่วมกัน ประการที่สอง เจตนารมณ์ร่วมกันของสังคมนี้ เป็นเจตนารมณ์ของสังคม ไม่ใช่ของบุคคล หรือกลุ่มคน
**แนวคิดนี้สัญญาประชาคม ทำให้มนุษย์ได้สังคมที่มีระเบียบทางการเมือง สังคมที่มีระเบียบทางการเมืองเป็นผลิตผลของวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้กลับมามีสิทธิเสรีภาพในสภาวะตามธรรมชาติที่เคยมีอยู่ดั้งเดิม แนวคิดนี้ไม่ทำให้มนุษย์เสียสิทธิตามธรรมชาติ

ดังนั้นที่มาของสิทธิมนุษยชน มาจากกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายธรรมชาติ คือ กฎหมายที่เกิดขึ้นเอง โดยมนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และใช้บังคับได้โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา

แนวคิดเหล่านี้มีทัศนคติที่คล้ายคลึงกันว่า ผู้ปกครองที่ชองจะต้องได้รับอำนาจการปกครองจากผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง ประชาชนในฐานะปัจเจกบุคคลมีสิทธิหรือเรียกร้องสิทธิอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของตนซึ่งไม่มีผู้ใดจะขัดขวางหรือพรากเอาไปได้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมที่ดีขึ้น เช่น กระบวนการพิจารณาคดีที่มีการไต่สวนที่โหดร้ายทารุณ เรื่องทาส เรื่องการควบคุมกุมขังผู้กระทำความผิด เรื่องนักโทษถูกปฏิบัติในสภาพที่เลวร้าย เป็นต้น ส่งผลให้มีการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยม และเป็นพื้นฐานของการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย