วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2032 กำเนิดกฎหมาย 12 โต๊ะ

สรุปย่อ วิชา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก (LAW2032)
เรื่อง กำเนิดกฎหมาย 12 โต๊ะ

การแบ่งชนชั้นออกเป็น 2 พวก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคทางสังคมและการเมืองพวกชนชั้นสูงหรือพาทริเชียนมีสิทธิเหนือกว่าชนชั้นกลาง หรือเพลเบียน เช่น เพลเบียนไม่มีสิทธิแต่งงาน การแต่งงานที่ชอบด้วยกฎหมายของชนชั้นสูงบุตรที่เกิดจากคู่สมรสอยู่ในอำนาจปกครองของครอบครัวที่บิดาสังกัดอยู่ การแต่งงานระหว่างเพลเบียนและพาทริเชียนเป็นของต้องห้าม
สิทธิทางการเมืองในการดำรงตำแหน่ง เช่นประมุขในการบริหาร หรือที่เรียกว่า กงสุล จำกัดเฉพาะพวกพาทริเชียน ส่วนตำแหน่งต่าง ๆ รองลงไปก็จำกัดเฉพาะพวกชนชั้นสูงเท่านั้น พวกเพลเบียนไม่มีสิทธิ
การออกกฎหมายใช้บังคับ หรือชี้ขาดตัดสินคดี เป็นอำนาจของพวกพาทริเชียนทั้งสิ้น เช่น เพลเบียนเป็นลูกหนี้พาทริเชียน แล้วไม่ยอมชำระหนี้ การบังคับชำระหนี้อาจนำไปสู่ความเป็นทาส หรือความตายของลูกหนี้และครอบครัว เพราะผู้พิพากษาเป็นพวกเดียวกับพาทริเชียน ความยุติธรรมจึงยากที่จะเกิดทำให้พวกเพลเบียนไม่พอใจเพราะไม่มีทางทราบได้เลยว่ากฎหมายที่ใช้อยู่มีว่าอย่างไร จึงเรียกร้องให้นำกฎหมายเหล่านั้นมาเขียนให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร
ปี 452 ก่อนคริสต์ศักราช ทางการส่งผู้แทน 3 คน ไปกรีก เพื่อศึกษากฎหมายของ Solon ซึ่งเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น เพื่อเอามาเป็นแบบอย่างในการจัดทำกฎหมายโรมัน
เมื่อผู้แทนกลับถึงกรุงโรม ได้แต่งตั้งบุคคลคณะหนึ่งจำนวน 10 คน เป็นพวกพาทริเชียน จัดทำกฎหมายขึ้น โดยจารึกไว้บนโต๊ะบรอนซ์จำนวน 10 โต๊ะ ในปี 451 ก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการรับรองโดยสภาผู้อาวุโสและสภากองร้อยในระยะต่อมา
ปี 450 ก่อนคริสต์ศักราช ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอีก 3 คน จากพวกเพลเบียน ให้จัดทำกฎหมายเพิ่มเติมอีก 2 โต๊ะ เมื่อรวมกับที่ทำไว้แล้วจึงมีจำนวนทั้งสิ้น 12 โต๊ะ รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามกฎหมาย 12 โต๊ะ กฎหมายนี้เป็นการรวบรวมเอาจารีตประเพณีที่ใช้เป็นกฎหมายในขณะนั้น มาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วตั้งไว้ในที่สาธารณะใจกลางเมือง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ว่ากฎหมายควรเป็นสิ่งที่เปิดเผยให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็นและศึกษาหาเหตุผลได้
เป็นที่น่าเสียดายว่ากฎหมาย 12 โต๊ะถูกทำลายในปี 390 ก่อนคริสต์ศักราช เนื่องจากโรมถูกชาวโกลรุกราน และถูกเผ่าทำให้กฎหมาย 12 โต๊ะถูกทำลายไปด้วย และไม่เป็นที่เชื่อได้อย่างแน่นอนว่ากฎหมาย 12 โต๊ะที่ศึกษาอยู่ในภายหลังจะถูกต้องหรือไม่

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2032 ประมวลกฎหมายจัสติเนียน

สรุปย่อ วิชา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก (LAW2032)
เรื่อง ประมวลกฎหมายจัสติเนียน

กฎหมาย Civil Law หรือ ประมวลกฎหมายจัสติเนียน เกิดจากปัญหาความไม่แน่นอนในการตัดสินคดี เนื่องจากจักรพรรดิหลายพระองค์กำหนดให้อ้างอิงความเห็นของนักกฎหมาย 5 นาย จึงจะเป็นความเห็นที่เชื่อถือได้ ถ้าความเห็นของนักกฎหมายเป็นไปในทางเดียวกันทั้ง 5 นาย ผู้พิพากษาจะตัดสินตามนั้น แต่ถ้าไม่ตรงกันผู้พิพากษาจะพิจารณาตามความเห็นของใครก็ได้
ค.ศ.528 ภายหลังจักรพรรดิจัสติเนียนเป็นจักรพรรดิได้ 1 ปี ทรงแต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่งมี 10 คน มีไทโบเนียน ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นเป็นประฐานมีหน้าที่รวบรวมและจัดทำกฎหมายขึ้นใหม่
ในปี ค.ศ.530 จัสติเนียนได้ให้ไทโบเนียน จัดทำกฎหมายขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งให้มีลักษณะกว้างขวางสามารถบังคับได้ทั่วไป ไทโบเนียนได้เลือกบุคคลอื่น ๆ มาร่วมงานด้วย 16 คน ล้วนแต่เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น และ 4 คนในจำนวนนี้เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมาย ใช้เวลา 3 ปี ได้จัดทำกฎหมายขึ้น 2,000 บรรพ ขนาด 3,000,000 บรรทัด แต่ในที่สุดถูกตัดทอนลงเหลือ 150,000 บรรทัด

ประมวลกฎหมายจัสติเนียน ประกอบด้วยบทบัญญัติ 3 ภาค ดังนี้คือ
1.คำอธิบายกฎหมายเบื้องต้น เป็นบทบัญญัติเพื่อแนะนำให้ผู้ศึกษากฎหมายเข้าใจกฎหมายและเนื้อหาสาระ จึงได้ให้คณะกรรมการจัดทำคำอธิบายกฎหมาย ซึ่งจะกล่าวถึงสาระสำคัญของกฎหมายทั้งหมดให้เป็นระบบเพื่อสะดวกแก่การศึกษา คำอธิบายกฎหมายเบื้องต้นนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นคำอธิบายของไกอัสเป็นแนวทาง เช่น
“ความยุติธรรมคือเจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะให้แก่ทุกคนตามส่วนที่เขาควรจะได้”
“วิชานิติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความถูกต้องและความไม่ถูกต้อง เป็นวิชาที่ว่าด้วยความเป็นธรรมและความอยุติธรรม”
“หลักกฎหมายก็คือ ดำรงชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ทำร้ายผู้อื่น และให้แก่ทุกคนตามส่วนที่เขาควรได้”
2.วรรณกรรมกฎหมาย เป็นการรวบรวมข้อคิดและความคิดเห็นของนักกฎหมายตั้งแต่ 100 ปี ก่อนคริสต์ศักราชเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 4 สรุป วรรณกรรมกฎหมายก็คือความเห็นของนักกฎหมายเอามารวมเล่มไว้โดยรวบรวมจากหนังสือประมาณ 2,000 เล่ม แล้วย่อลงมาเหลือ 50 เล่ม มีประมาณ 150,000 บรรทัด เช่น
วรรณกรรมกฎหมาย หรือ บทคัดย่อของจัสติเนียน กล่าวว่า “ย่อมไม่มีการขายถ้าไม่มีราคา” มาจากความเห็นของนักกฎหมาย ชื่อ Ulpianus ซึ่งเห็นว่าราคาเป็นองค์ประกอบสำคัญของสัญญาซื้อขายโรมัน
3.ประมวลพระราชบัญญัติ รวบรวมตัวบทกฎหมายที่ออกโดยพระจักรพรรดิ ทั้งก่อนและหลังสมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินโดยเรียบเรียงเป็นบรรพ เป็นเรื่อง รวบรวมเสร็จภายในปีเศษและประกาศใช้ ค.ศ.529 หลังประกาศใช้ไปแล้วประมาณ 5 ปี ก็มีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงใหม่ เพราะว่าล้าสมัยประมวลกฎหมาย ฉบับที่ 2 มีชื่อว่า Justinian’s Code of the resumed readiong ฉบับนี้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ฉะนั้นในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน จะมีประมวลอยู่ 2 ฉบับ
1.Justinian’s Code หรือ Corpus Juris Civilis ซึ่งยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
2.Justinian’s Code of the resumed reading
นอกจาก 3 ภาคที่กล่าวแล้วในประมวลกฎหมาย Civil Law ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายซีวิล ลอว์ไปแล้ว จัสติเนียนก็ไม่ได้ทรงนิ่งนอนพระทัย ทรงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้ทันสมัยอยู่เสมอ ในระยะหลังก็ออกมาเป็นพระราชบัญญัติและตั้งพระทัยว่าจะรวบรวมกฎหมายให้เป็นประมวลในโอกาสต่อไปแต่ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน

สรุปย่อ LAW2032 ข้อแตกต่างระหว่างระบบสังคมนิยมกับซีวิล

สรุปย่อ วิชา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก (LAW2032)
เรื่อง ข้อแตกต่างระหว่างระบบกฎหมายสังคมนิยมกับระบบกฎหมายซีวิล ลอว์

1.กฎหมายอาญาของประเทศสังคมนิยม ไม่ต้องตีความโดยเคร่งครัดโดยอาจลงโทษผู้กระทำผิดโดยอาศัยการเทียบเคียงความผิด แต่ซีวิล ลอว์จะตีความโดยเคร่งครัด
2.ระบบซีวิล ลอว์ การออกกฎหมายจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ แต่ในระบบกฎหมายสังคมนิยม แม้จะต้องออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
3.ระบบซีวิล ลอว์ ให้เสรีภาพแก่เอกชนในการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่ระบบสังคมนิยม จำกัดการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน
4.ระบบซีวิล ลอว์ ให้ความสำคัญแก่กฎหมายเอกชนมากกว่ากฎหมายมหาชน แต่ระบบสังคมนิยมให้ความสำคัญแก่กฎหมายมหาชนมากกว่ากฎหมายเอกชน

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2032 ระบบกฎหมายหลัก

สรุปย่อ วิชา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก (LAW2032)
เรื่อง ระบบกฎหมายหลัก

ศาสตราจารย์เรเน่ ดาวิด นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ได้แบ่งระบบกฎหมายออกเป็น 4 ระบบ ดังนี้
1.ระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิค
คำว่า “โรมาโน” หมายถึงกรุงโรมซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอิตาลี ส่วนคำว่าเยอรมันนิค หมายถึงชาวเยอรมัน เพื่อให้เกียรติแก่ประเทศทั้งสอง เนื่องจากอิตาลีเป็นชาติแรกที่รื้อฟื้นกฎหมายโรมันในอดีตขึ้นมาใหม่ เยอรมันเป็นประเทศที่สองได้รับเอากฎหมายโรมันมาใช้เช่นเดียวกับอิตาลี มีผู้เห็นว่าหากจะยกย่องหรือให้เกียจรติ ควรให้เกียรติกฎหมายโรมัน ในทางกฎหมายจึงมีศัพท์กฎหมายเรียกกันว่า Jus Civil หรือ Civil Law หมายถึง กฎหมายที่ใช้ได้กับชาวโรมัน หรือต้นกำเนิดของกฎหมายโรมันแท้ๆ คำว่า Civil Law ได้กลายมาเป็นชื่อระบบกฎหมายที่นิยมมากกว่าโรมาโน-เยอรมันนิค
จะเห็นว่ามีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ประเทศต่างๆที่นำเอาไปใช้ได้มีการจัดทำกฎหมายในรูปประมวลกฎหมาย (Code)
2.ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์
ต้นกำเนิดคือประเทศอังกฤษ เกิดจากเดิมเกาะอังกฤษมีชนเผ่าดั้งเดิมซึ่งทำไร่ ไถนา เรียกว่าพวก Briton แต่ถูกรุกรานจากชนเผ่าต่าง ๆ เมื่อเผ่าดั้งเดิมสู้ไม่ได้จึงถูกยึดครอง จะเห็นว่าเดิมนั้นเกาะอังกฤษมีหลายชนเผ่า แต่ละชนเผ่าจะมีจารีตประเพณีของตนเอง จนมีผู้กล่าวว่า “ถ้าขี่ม้าข้ามทุ่งนาต้องผ่านจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นนับเป็นสิบๆอย่าง” ชนเผ่าสุดท้ายที่เป็นบรรพบุรุษของชาวอังกฤษ คือชาว Norman บุกขึ้นเกาะอังกฤษแล้วตั้งราชวงศ์มีกษัตริย์ปกครอบทรงพระนามว่าพระเจ้าวิลเลียม ทรงจัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์ เรียกอีกอย่างว่า ศาลหลวง ส่งผู้พิพากษานั่งรถม้าจากส่วนกลางไปพิจารณาคดี ใช้วิธีไต่สวนบุคคลแทนแบบดั้งเดิม จารีตเผ่าไหนล้าสมัยก็แก้ไขจนในที่สุดศาลหลวงได้วางหลักเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสามัญ และใช้กันทั่วไป
ระบบคอมมอน ลอว์ จึงหมายถึงระบบกฎหมายจารีตประเพณี มีที่มาจากจารีตประเพณีของอังกฤษ ระบบกฎหมายนี้ถือว่าผู้พิพากษาเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย เมื่อคดีเรื่องใดศาลได้ตัดสินไปแล้วถ้าหากมีคดีเช่นเดียวกันเกิดขึ้นอีก ศาลก็จะยึดถือคดีก่อนเป็นบรรทัดฐาน และตัดสินคดีดำเนินรอยตามคดีก่อน
3.ระบบกฎหมายสังคมนิยม
มีต้นกำเนิดในรัสเซีย แต่เดิมรัสเซียมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสังคมนิยม เพื่อทำให้สังคมกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในที่สุด
คำว่าคอมมิวนิสต์ หมายความว่า ลัทธิเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคมที่ยึดหลักว่า การรวมกันของบรรดาทรัพย์สินทั้งหลายเป็นของกลางร่วมกันทั้งหมด เอกชนจะถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มิได้
เกิดจากแนวความคิดของนักปราชญ์สองท่านคือ คาร์ล มาร์กซ์ และเลนิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพื่อบีบบังคับเอามาเป็นของชุมชนเนื่องจากมนุษย์โดยธรรมชาติย่อมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของชุมชน
4.ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม
มีพื้นฐานมาจากศาสนา
4.1ศาสนาอิสลาม
มีความเชื่อว่า อัลลอฮ์ เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ท่านนบีมูฮำมัด เป็นศาสดาองค์สุดท้าย มาประกาศสั่งสอนหลักธรรมแก่มนุษยโลก พระมหาคัมภีร์อัล-กรุอาน เป็นธรรมนูญสูงสุดและเป็นที่มาอันดับแรกของกฎหมายอิสลาม ซึ่งถือหลักในการพิจารณากระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครอบครัว ผัวเมียและการแบ่งปันมรดกของชนชาวมุสลิม ภายหลังท่านนบีมูฮำมัดสิ้นพระชนม์ไปแล้วได้มีการรวบรวมจดเป็นตัวอักษรไว้ในใบปาล์มบ้าง หนังสัตว์บ้าง
4.2ศาสนาคริสต์
มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาคริสต์ แนวความคิดของศาสนาคริสต์ก็ใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายของประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา เช่น ข้อกำหนดห้ามหย่า การห้ามคุมกำเนิด การห้ามทำแท้ง การห้ามสมรสซ้อน เป็นต้น
4.3ศาสนาฮินดู
กฎหมายฮินดู หมายความถึงลัทธิกฎหมายที่ชุมชนต่าง ๆ ไม่ว่าในประเทศอินเดียหรือประเทศอื่นๆ แถบเอเขียตะวันออกเฉียงใต้ คือไทย กัมพูชา ลาว ได้ยอมรับนับถือ กฎหมายฮินดูมีที่มา 4 ประการคือ
1.ศรุติ ได้แก่หลักการในศาสนาฮินดู
2.ศาสตร์ หรือสมฤติ ได้แก่บทบัญญัติที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นเพื่อประกอบกับพระธรรมศาสตร์
3.ธรรมะ ได้แก่ บทบัญญัติซึ่งกำหนดถึงหน้าที่
4.ธรรมศาสตร์ และนิพนธ์

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2032 ประโยชน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายต่างประเทศ

สรุปย่อ วิชา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก (LAW2032)
เรื่อง ประโยชน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายต่างประเทศ

1.ทำให้สามารถล่วงรู้ถึงกฎหมายและหลักการในกฎหมายเก่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาหรือการจัดทำและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่
2.ทำให้มีความเข้าใจกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันดีขึ้น ว่ากฎหมายดังกล่าวนี้มีที่มาอย่างไรและมีความหมายและขอบเขตเพียงใด โดยเปรียบเทียบกับบทบัญญัติในกฎหมายเก่า
3.ทำให้เข้าใจความเป็นมาและระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ และอาจนำมาเปรียบเทียบกับความเป็นมาและระบบกฎหมายของประเทศของตน
4.ทำให้มีความรู้และความเข้าใจในวัฒนธรรมทางกฎหมายของประเทศต่างๆ ในอดีตและระยะต่อมา