วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สรุปย่อ LAW2032 อิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศ

สรุปย่อ LAW2032 อิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศ
สรุปย่อ วิชา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และระบบกฎหมายหลัก (LAW2032)
เรื่อง อิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศ

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ใช้บังคับในปัจจุบันจำนวนมาก ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 บรรพ เมื่อพิจารณามาตราต่างๆในแต่ละบรรพ จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการร่างกฎหมายได้อาศัยกฎหมายของประเทศต่างๆทางตะวันตกเป็นส่วนมากในการจัดทำเห็นได้จาก บรรพ 1 หลักทั่วไป และบรรพ 2 ได้ลอกเลียนแบบจากกฎหมายแพ่งของเยอรมันและกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในบรรพ 2 เรื่องหนี้ บางมาตราเมื่อเทียบตัวบท เรียกได้ว่าเหมือนกันแทบทุกคำก็ว่าได้
ส่วนในบรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ได้นำกฎหมายหลายประเทศมาพิจารณา เช่น กฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสและสวิสนอกเหนือจากกฎหมายแพ่งของเยอรมันและญี่ปุ่น แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ได้ยึดถือพระราชบัญญัติซื้อขายสินค้า (The Sale of Good Act, 1893) ของประเทศอังกฤษเป็นหลัก ปรากฏในบรรพ 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วยซื้อขายที่คล้ายคลึงกับกฎหมายซื้อขายของอังกฤษ สำหรับกฎหมายตั๋วเงิน ลักษณะ 21 ก็ได้ ก็ได้นำเอาบัญญัติส่วนใหญ่ของ (The Bill of Exchange Act, 1882) ของอังกฤษมาเป็นรากฐาน นอกจากนี้อังกฤษยังเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายลักษณะบริษัทจำกัดอีกด้วย
ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ได้นำเอาหลักกฎหมายอังกฤษ เรื่อง เฮบีอัส คอร์พัส ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการให้หลักประกันทางเสรีภาพแก่ประชาชนอังกฤษมาใช้ บัญญัติไว้ในมาตรา 90 เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างในอังกฤษ

แหล่งที่มาของกฎหมายไทยปัจจุบันมี 3 แหล่ง
1. กฎหมายไทยเดิม ซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์กฎหมายไทยสมัยต่างๆ กฎหมายตราสามดวง กฎหมายไทยปัจจุบันที่ยึดถือตามกฎหมายดั้งเดิม เช่น กฎหมายลักษณะครอบครัว และกฎหมายลักษณะมรดก ฯลฯ
2. กฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวล เช่น ประมวลแพ่งฝรั่งเศส เยอรมัน สวิส บราซิล และญี่ปุ่น เป็นต้น
3. ระบบกฎหมายอังกฤษ

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สรุปย่อ LAW2032 ข้อแตกต่างระหว่าง Common และ Civil

สรุปย่อ วิชา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก (LAW2032) เรื่อง ข้อแตกต่างระหว่างระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ และ ซีิวิล ลอว์
1. ที่มาของกฎหมาย
          ระบบกฎหมาย คอมมอน ลอว์ มีที่มาจากจารีตประเพณี คำพิพากษาของศาลก็ถือว่าเป็นที่มาของกฎหมาย เพราะคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินคดีต่าง ๆ ถือเป็นบรรทัดฐาน ที่ศาลต้องยึดถือเมื่อมีกรณีอย่างเดียวกันเกิดขึ้น นอกจากนี้ หลักความยุติธรรมก็ถือได้ว่าเป็นที่มาของกฎหมายที่ศาลนำมาใช้ให้เกิดความเสมอภาค และกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติโดยรัฐสภาอังกฤษ
          ระบบกฎหมาย ซีวิล ลอว์ ส่วนมากเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร ในบางกรณีก็มีที่มาจากจารีตประเพณี
2. วิธีพิจารณาคดี
          ระบบกฎหมาย คอมมอน ลอว์ มีลูกขุนทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนผู้พิพากษาจะทำหน้าที่วางหลักกฎหมายและชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย เป็นการพิจารณาคดีระบบปรปักษ์
          ระบบกฎหมาย ซีวิล ลอว์ ไม่มีลูกขุน ผู้พิพากษาทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญญาข้อเท็จจริงและปัญหากฎหมายใช้ระบบเสาะหาข้อเท็จจริง หรือระบบไต่สวน และระบบกล่าวหาที่คล้ายครึงกับระบบปรปักษ์
3. การจำแนกประเภทกฎหมาย
          ระบบกฎหมาย คอมมอน ลอว์ ไม่นิยมแบ่งแยกประเภทกฎหมายออกเป็นประเภทต่าง ๆ แต่มีการแบ่งเป็นกฎหมาย คอมมอน ลอว์ และหลักความยุติธรรม ศาลเป็นระบบศาลเดี่ยวคือมีศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียว
          ระบบกฎหมาย ซีวิล ลอว์ แยกประเภทกฎหมายออกเป็น กฎหมายเอกชน และกฎหมายมหาชน ดังนั้นข้อพิพาทระหว่างราษฎรกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจะขึ้นศาลปกครอง คดีทั่วไปขึ้นศาลยุติธรรม เป็นระบบศาลคู่
4. ผลของคำพิพากษา
          ระบบกฎหมาย คอมมอน ลอว์ เมื่อศาลได้พิพากษาและกำหนดแบบอย่างอันเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายแล้วศาลต่อ ๆ มาต้องผูกพันที่จะพิพากษาไปในแนวทางเดียวกัน
          ระบบกฎหมาย ซีวิล ลอว์ คำนึงถึงตัวบทเป็นสำคัญ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้วคำพิพากษาของศาลไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน ศาลต่อมาไม่จำเป็นต้องพิจารณาไปในทางเดียวกัน
5. การศึกษากฎหมาย
          ระบบกฎหมาย คอมมอน ลอว์ ศึกษาจากคำพิพากษาที่ศาลได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐาน
          ระบบกฎหมาย ซีวิล ลอว์ ศึกษาจากตัวบทกฎหมาย