วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236)LAW2036
เรื่อง สิทธิในชีวิต

            มนุษย์มีสิทธิบางประการที่ติดตัวมาแต่กำเนิดจนกระทั่งถึงแก่ความตาย ได้แก่ สิทธิในชีวิต เสรีภาพในร่างกาย และความเสมอภาค ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ และใครจะล่วงละเมิดมิได้ สิทธิเหล่านี้ คือ สิทธิตามธรรมชาติ เกิดมีมาเองโดยมนุษย์ไม่ได้ทำขึ้น เป็นสิทธิดั้งเดิม
            ต่อมามีการจัดทำปฏิญญาสากล โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาไว้ซึ่งสิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์ มาตรา 3 บัญญัติถึงสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน แต่ปฏิญญาไม่ใช่กฎหมาย เพราะไม่มีสภาพบังคับ จึงเป็นเพียงหลักการ เป็นแนวทางในการออกกฎหมาย กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในชีวิต อยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 มีผลบังคับใช้ 29 มกราคม 2540
            สิทธิในชีวิต มาตรา 6 บัญญัติว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยธรรมชาติในการดำรงชีวิต สิทธินี้ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีบุคคลใดสามารถล่วงชีวิตใครได้ แต่ถ้ารัฐใดมีความจำเป็นที่จะยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตก็สามารถทำได้ การลงโทษประหารชีวิตจะกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดเท่านั้น สำหรับผู้ที่ถูกพิจารณาโทษนั้น จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ถูกทรมานหรือลงโทษอย่างทารุณโหดร้ายและเมื่อถูกประหารชีวิตก็ควรจะใช้วิธีการที่ให้เกิดการทรมานต่อกายและจิตใจของผู้ถูกประหารชีวิตให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
            มาตรา 6 (4) ได้กำหนดให้มีการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิในชีวิตไว้อีก โดยให้มีมาตรการช่วยบรรเทาโทษไม่ให้ประหารชีวิต ด้วยการให้สิทธิร้องขออภัยโทษหรือลดหย่อนโทษ การนิรโทษกรรม เพื่อพยายามไม่ให้มีการประหารชีวิต แต่ถ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การประหารชีวิตจะต้องไม่กระทำต่อบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และจะลงโทษต่อหญิงมีครรภ์ไม่ได้
            สิทธิในชีวิตตามมาตรา 6 นี้รัฐภาคีจะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามโดยกล่าวอ้างภาวการณ์ฉุกเฉินอันมีมาเป็นสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดปลอดภัยของชาติไม่ได้ แม้ว่า มาตรา 4 จะกำหนดให้รัฐภาคีสามารถหลีกเลี่ยงพันธกรณีต่าง ๆ ได้แต่ไม่อนุญาตให้เลี่ยงมาตรา 6 นี้โดยเด็ดขาด
            ด้านกระบวนการยุติธรรม มาตรา 9 ห้ามไม่ให้มีการจับกุมหรือคุมขังโดยพลการ หากมีการจับกุมหรือคุมขังก็จะต้องได้รับการชี้แจงในเวลาอันรวดเร็วถึงเหตุผลของการถูกจับกุมหรือแจ้งข้อหา การกักขังจะทำได้ในเวลาอันจำกัดเท่าที่จำเป็นตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้ และจะต้องได้รับการพิจารณาต่อหน้าศาลยุติธรรมโดยเร็วที่สุด มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีถูกจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
            มาตรา 10 สิทธิที่จะได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีและการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ให้การคุ้มครองบุคคลที่ถูกลิดรอดเสรีภาพ โดยบุคคลที่มีหน้าที่จะต้องคอยดูแลควบคุมตามวิธีการที่กำหนดไว้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องกระทำโดยมีมนุษยธรรมและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในบุคคลแต่ละคน รัฐควรแยกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดจากผู้ต้องโทษโดยมีมาตรการในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน และควรแยกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดที่เป็นเยาวชนจากผู้ใหญ่โดยให้มีการพิจารณาคดีโดยเร็วที่สุด ระบบราชทัณฑ์ จะต้องปฏิบัติต่อนักโทษด้วยความมุ่งหมายที่จะให้กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีและเป็นการฟื้นฟูทางสังคมด้วย
            มาตรา 14 ทุกคนย่อมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการพิจารณาของศาล มีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำผิด ทุกคนมีสิทธิได้รับหลักประกันขั้นต่ำอย่างเสมอภาค เช่นมีสิทธิได้รับแจ้งข้อหาในภาษาที่เข้าใจหรือมีล่าม ผู้ถูกกล่าวหามีเวลาและความสะดวกเพียงพอเพื่อต่อสู้คดีและติดต่อทนาย ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้า เป็นต้น
            ผู้ต้องหาเด็กต้องได้รับการประกันและคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ กระบวนการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงอายุและเน้นการส่งเสริมให้กลับคืนสู่สังคม ผู้ต้องโทษมีสิทธิได้รับการพิจารณาอุทธรณ์โดยศาลสถิตยุติธรรมในระดับสูงขึ้นไป มีสิทธิเรียกการชดเชยค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่มีการดำเนินกระบวนการทางยุติธรรมที่ผิดพลาด
            มาตรา 15 บุคคลมีสิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษย้อนหลัง มาตรานี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามได้ ตามมาตรา 4
            นอกจากนี้องค์กรสหประชาชาติยังได้ผลักดัน “พิธีสารเลือกรับฉบับที่สองแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต” ถูกบัญญัติเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก พิธีสารเลือกรับฉบับที่สองฯ นี้มีเจตจำนงที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในมาตรา 6 แห่งกติกาฯ คือสิทธิในชีวิต และเป็นไปตามหลักการของมาตรา 3 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ประกาศถึงสิทธิในชีวิตเอาไว้

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236) LAW2036
เรื่อง พันธกรณี

ตามมาตรา 2 บัญญัติว่าให้รัฐภาคีรับที่จะดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อที่จะให้บุคคลในอาณาเขตของตนได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่ได้รับรองไว้ในกติกาฯนี้ โดยจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ปราศจากการแบ่งแยกใด ๆ เกี่ยวกับ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น นอกจากนี้ยังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ที่จะประกันถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงในสิทธิทั้งปวง ทั้งทางแพ่งและทางการเมือง ตามกติกานี้อีกด้วย
ถ้ามีบุคคลใดถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามที่ให้การรับรองแล้ว ก็สามารถร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกระบวนการยุติธรรมที่กำหนดไว้ภายในรัฐนั้น ๆ ได้ โดยต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ความผูกพันของรัฐตามมาตรา 2 ที่กำหนดให้รัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้แต่ละรัฐรับที่จะเคารพและให้ความมั่นใจในสิทธิต่าง ๆ ที่ยอดรับแล้วในกติกา ในทางปฏิบัติ รัฐภาคีต่างก็จะบัญญัติกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศตนให้สอดคล้องกับกติกาที่กำหนดไว้ ไม่ให้ขัดแย้งกับกติกาฯ และหน่วยงานด้านบริหาร และตุลาการ ทั้งหมด ต้องตระหนักถึงพันธกรณีของรัฐภาคีตามกติกาในอันที่จะให้เกิดผลตามนี้
แม้ว่ารัฐภาคีผูกพันที่จะต้องให้การคุ้มครองและเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่กำหนดไว้ในกติกาฯ แต่ก็มีข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามได้ คือมาตรา 4 กำหนดว่า ในภาวการณ์ฉุกเฉินอันมีมาเป็นสาธารณะ ซึ่งคุกคามความอยู่รอดปลอดภัยของชาติรัฐภาคี สามารถดำเนินมาตรการหลีกเลี่ยงพันธะที่มีอยู่ตามกติกาฯฉบับนี้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นอย่างแท้จริงต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การหลีกเลี่ยงพันธกรณีที่มีอยู่ตามกติกาฯนี้จะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่น ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐภาคีนั้นผูกพัน และจะต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
มาตรา 4 (2) ไม่ยินยอมให้รัฐภาคีหลีกเลี่ยงในการกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญบางประการ คือ มาตรา 6 สิทธิในชีวิต มาตรา 7 สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน มาตรา 8 สิทธิที่จะไม่เป็นทาส มาตรา 11 สิทธิที่จะไม่ถูกจำคุกเพราะไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาได้ มาตรา 15 สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษย้อนหลัง มาตรา 16 สิทธิที่ถือว่าเป็นบุคคล มาตรา 18 สิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา
ถ้ารัฐภาคีใดใช้สิทธิหลีกเลี่ยงตามาตรา 4 แล้ว ก็มีพันธกรณีที่จะต้องแจ้งแก่รัฐภาคีอื่น ๆ แห่งกติกาฉบับนี้ โดยทันที โดยอาศัยเลขาธิการสหประชาชาติเป็นสื่อกลาง ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงบทบัญญัติที่ตนได้หลีกเลี่ยงและเหตุผลอันก่อให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ตลอดจนวันที่รัฐนั้นยุติการหลีกเลี่ยงดังกล่าว

สรุปย่อ LAW2036 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (LAW2036)

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236)  (LAW2036)
เรื่อง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

รัฐต่าง ๆ ผูกพันตามกฎบัตรสหประชาชาติที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนประชาชนมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง มีสิทธิในการดำรงชีวิตตามปกติของตนและสามารถดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติและเสรีภาพของตนได้อย่างเสรี การยอมรับศักดิ์ศรีประจำตัวและสิทธิซึ่งเสมอกันและไม่อาจโอนแก่กันได้ สิทธิเหล่านี้มาจากศักดิ์ศรีประจำตัวของบุคคล ปัจเจกบุคคล มีหน้าที่ต่อปัจเจกชนอื่นและต่อประชาชน มีความรับผิดชอบที่จะต่อสู้เพื่อส่งเสริมและการปฏิบัติตามสิทธิที่รับรองไว้ในกติกาฯ
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2542 และมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542
ตามมาตรา 2 กำหนดไว้ในกติกาฉบับนี้ใช้ได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติชนิดใด ๆ ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่น ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาดั้งเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น นอกจากนี้ยังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ที่จะประกันถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงในสิทธิทั้งปวงดังที่ได้ระบุไว้ในกติกานี้
ความผูกพันตามพันธกรณี หมายความว่า การผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่เป็นหลักการของกฎหมายนั้น ด้วยวิธีเหมาะสมกับทรัพยากรของชาติให้เป็นประโยชน์สูงสุด และควบคู่กันไปกับการพัฒนาประเทศ และถ้าจำเป็นต้องร่วมมือ และรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วยได้ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านเทคนิค และที่สำคัญต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม
มีข้อยกเว้น ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่จะกำหนดสิทธิที่ระบุไว้ในกติกาฯ ให้แตกต่างไปได้สำหรับคนชาติอื่น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนตามสมควร เพื่อไม่ให้ประเทศที่เจริญกว่าเอาเปรียบแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่รัฐภาคีอาจควบคุมและจำกัดสิทธิที่กำหนดไว้ในกติกาฯได้ ถ้าเป็นการสอดคล้องกับลักษณะของสิทธิและเพื่อเป็นการส่งเสริมสวัสดิการของสังคม
สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีทั้งหมด 9 ประการดังต่อไปนี้
1.สิทธิที่จะทำงาน มาตรา 6 กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกทำงานได้โดยอิสรเสรี
2.สิทธิที่จะมีสภาวะการทำงานที่ยุติธรรมและเหมาะสม มาตรา 7 ให้การคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน
-          การได้ค่าจ้างที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง
-          มีสภาวะการทำงานที่ปลอดภัยและถูกพลานามัย เป็นต้น
            3.สิทธิที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ตามมาตรา 8 รับประกันสิทธิที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงานได้เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของตนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
            4.สิทธิที่จะได้รับการประกันสังคม ตามมาตรา 9 รวมทั้งการที่จะได้รับความช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคมอีกด้วย
            5.สิทธิครอบครัว มาตรา 10 เป็นสิทธิที่เน้นไปทางด้านผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ เนื่องจากครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม รัฐควรให้ความคุ้มครองตั้งแต่ชายหญิงรักกัน อยู่กินกัน เมื่อหญิงตั้งครรภ์ก็ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ สิทธิได้รับวันลาและเงินเดือน เด็กควรได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ คุ้มครองจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
            6.สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ มาตรา 11 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะปลอดจากความหิวโหย และมีมาตรฐานการครองชีพที่พอเพียง รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย
            7.สิทธิที่จะมีมาตรฐานแห่งสุขภาพที่ดี มาตรา 12 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีมาตรฐานแห่งสุขภาพทั้งทางกายและทางใจที่ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ในการนี้รวมถึงการลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอดและของเด็กแรกเกิด ป้องกันบำบัดและควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น และอื่น ๆ อีกด้วย
            8.สิทธิในการศึกษา มาตรา 13 ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นประถมให้เป็นการศึกษาภาคบังคับและเป็นแบบให้เปล่า ตามาตรา 14 ถ้ารัฐใดไม่สามารถจัดให้มีการศึกษาขั้นต่ำนี้ ในเมืองสำคัญ ๆ ได้ รัฐภาคีนั้นต้องหาทางจัดทำแผนเตรียมการให้มีการศึกษาประถมภาคบังคับแบบให้เปล่า
            9.สิทธิที่จะมีชีวิตทางด้านวัฒนธรรม มาตรา 15 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะใช้ชีวิตทางด้านวัฒนธรรม และได้รับประโยชน์จากการคุ้มครอง ประโยชน์ทางด้านศีลธรรมและทางวัตถุที่เกิดจากการผลิตทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะซึ่งตนเป็นเจ้าของ

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236) LAW2036
เรื่อง การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

1.มหากฎบัตรแมกนาคาร์ตา ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13
            พระเจ้าจอห์น (John) กษัตริย์อังกฤษ ใช้อำนาจปกครองอย่างไม่เป็นธรรม ประชาชนได้รับความเดือดร้อนพวกขุนนางและนักบวชได้ลุกขึ้นต่อต้าน และบังคับให้พระเจ้าจอห์น ลงพระนามประกาศใช้กฎหมายฉบับหนึ่งคือ “The Great Charter” หรือ “มหากฎบัตรแมกนาคาร์ตา” (Magna Carta) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1215 ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารชิ้นแรกทางประวัติศาสตร์ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 63 ข้อ มีสาระสำคัญคือ
-          พระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากที่ประชุมของพวกนักบวชและพวกขุนนางไม่ได้
-          การงดเว้นใช้หรือไม่ใช้กฎหมายบังคับแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะกระทำไม่ได้ (เข้ากับหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย)
-          ได้บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ และการเดินทางออกนอกประเทศโดยเสรี
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีก คือ “The Act of Habeas Corpus” เป็นกฎหมายฉบับที่ 2 บัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. 1679 มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
-          ถ้าบุคคลใดถูกจับกุมโดยเห็นว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกจับกุมหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องขอโดยแสดงหลักฐานต่อศาลให้ทำการไต่สวน พิจารณาว่าการคุมขังดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ได้ (เทียบได้กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตารา 90)
-          เมื่อศาลได้รับคำร้อง จะออกหมายเรียกที่มีชื่อว่า “Habeas Corpus ad Subjicidum” เพื่อเรียกผู้ที่จับกุมกักขังและผู้ที่ถูกจับกุมมาศาล เพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลว่าการจับกุมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ต่อมาได้มีการประกาศใช้กฎหมาย “The English Bill of Rights” เป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1689 กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าให้กำเนิดวิธีการพิจารณาคดีโดยลูกขุน มีสาระสำคัญดังนี้
1.ในการพิจารณาพิพากษาคดีจะดำเนินคดีโดยไม่ชักช้า
2.ห้ามเรียกหลักประกันในการประกันตัวมากเกินไป
3.ห้ามลงโทษด้วยวิธีการอันโหดร้ายทารุณ
4.รับรองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยลูกขุน

2.การประกาศอิสรภาพของอเมริกา
            แต่เดิมคนอังกฤษกับคนฝรั่งเศสเกิดข้อขัดแย้งกันในการทำการค้าขนสัตว์ จนเกิดเป็นสงคราม เรียกว่า “French and Indian War” อังกฤษต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำสงครามเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาความสงบอีก รัฐบาลอังกฤษต้องการให้ชาวอาณานิคมร่วมออกค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ โดยออกกฎหมายเก็บภาษีเครื่องแก้ว กระดาษ ตะกั่ว และใบชา ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงการต่อสู้ขยายตัวรุนแรงมากขึ้นจนทั้ง 13 มลรัฐอาณานิคมตัดสินใจแยกตัวออกจากประเทศอังกฤษ โดยได้มอบให้ Thomas Jefferson (คนผิวขาวที่ไปอยู่อเมริกา แต่เดิมอเมริกามีอินเดียนแดงอยู่) ประกาศอิสรภาพ ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ซึ่งถือเป็นวันชาติของอเมริกา ในคำประกาศอิสรภาพได้ยืนยันถึงสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ไว้อย่างชัดเจน
            ในคำประกาศอิสรภาพได้มีการกล่าวอ้างถึงทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ และแนวคิดแบบเสรีนิยม ของ John Locke และกล่าวว่ารัฐบาลต้องมาจากความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง และมีอยู่เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของมนุษย์ในสังคมเท่านั้น
            ต่อมาได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1787 จนถึงปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญที่สำเร็จอยู่ 26 หัวข้อ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับสิทธิของปัจเจกบุคคล มีการออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม 10 ฉบับแรก ซึ่งถือว่าเป็นคำประกาศว่าด้วยสิทธิของสหพันธรัฐอเมริกา ซึ่งพอสรุปข้อความที่สำคัญได้คือ
1.การอนุญาตให้ประชาชนมีและถืออาวุธได้
2.การตรวจค้นบุคคล เคหสถาน ทรัพย์สิน หรือเอกสารจะต้องมีหมายค้น
3.จำกัดขอบเขตการใช้สิทธิมิให้ล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น
4.เลิกการมีทาสและการบังคับใช้โดยไม่สมัครใจ ยกเว้นเป็นการลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

3.การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส 1789
            ในศตวรรษที่ 18 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงทำพินัยกรรมยกราชบัลลังก์ให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งใน ค.ศ.1715 ทรงมีพระชนม์เพียง 5 พรรษา ในช่วงแรกจึงต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ
            พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แม้จะทรงมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม แต่ก็ไม่ทรงสนพระทัยที่จะบริหารราชการแผ่นดิน ขาดความเป็นผู้นำ และความมั่นพระทัยในตัวพระองค์เอง ทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยจนรัฐมีหนี้สินมาก ก่อให้เกิดความอยุติธรรมในด้านการเก็บภาษี ขณะเดียวกันได้นำประเทศเข้าไปพัวพันในสงครามคั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก ในที่สุดพระองค์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ.1774 โดยทิ้งหนี้สินจำนวนมหาศาลไว้พร้อมกับท้องพระคลังที่ว่างเปล่า
            พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงสนพระทัยแต่เรื่องการล่าสัตว์ และทรงปล่องพระองค์ให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของพระมเหสี คือพระนางมารี-อองตัวแน็ต ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญญาทางการคลังอีกครั้งเมื่อฝรั่งเศสได้เข้าไปพัวพันในสงครามการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอเมริกา
            มองเตสกิเออ นักปรัชญาทางกฎหมายได้เขียนหนังสือชื่อ L’Esprit des Lois หมายถึง เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย เขาเห็นว่าควรมีสถาบันอื่น ๆ มาจำกัดการใช้อำนาจของกษัตริย์ และการใช้เสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดขอบเขตอันควร ควรมีการแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ (คืออำนาจอธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชน)
            ระบบการปกครองของฝรั่งเศสเป็นแบบเก่า การปกครองมีความสลับซับซ้อนและยุ่งเหยิงมาก ก่อให้เกิดปัญญาการบริหารบ้านเมือง ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาในเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทำให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสลุกขึ้นก่อการปฏิวัติใหญ่ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ซึ่งถือเป็นวันชาติของฝรั่งเศส โดยเข้าทำลายคุก Bastille ซึ่งกักขังนักโทษการเมือง และได้มีการจับกุมกษัตริย์ ราชินี ขุนนาง มาประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อ วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1789 สมัชชาแห่งชาติได้ประกาศใช้ “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง”