วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 ที่มาของสิทธิมนุษยชน

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236, LAW2036)
เรื่อง ที่มาของสิทธิมนุษยชน

มาจากแนวคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติ หมายถึง กฎหมายซึ่งบุคคลอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ คือ เกิดมีมาเองโดยมนุษย์ไม่ได้ทำขึ้น เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐและใช้ได้โดยไม่จำกัดกาลเทศ
แต่เดิมมนุษย์มีชีวิตอยู่ตามสภาวะธรรมชาติไม่มีกฎระเบียบทางสังคมและการเมือง ต่อมาเมื่อมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ได้ตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และจะเคารพซึ่งกันและกัน มีข้อตกลงว่าจะเคารพเชื่อฟังผู้ปกครองที่ทุกคนยอมรับ นี่เป็นลักษณะของทฤษฎีสัญญาประชาคม และลักษณะที่สำคัญถือว่าประชาชนคือที่มาของอำนาจทางการเมืองและเห็นว่ารัฐคือสิ่งสมมุติทางกฎหมาย

ฮูโก  โกรเชียส ได้ให้คำนิยามของกฎหมายธรรมชาติว่า หมายถึง “บัญชาของเหตุผลอันถูกต้องที่ชี้ว่าการกระทำอันหนึ่งมีความต่ำทรามในทางศีลธรรมหรือมีความจำเป็นในทางศีลธรรม โดยดูจากคุณภาพของการกระทำว่าเป็นไปตามธรรมชาติ หรือชัดแย้งกับธรรมชาติที่มีเหตุผลของมนุษย์”
ตามแนวคิดนี้ กฎหมายธรรมชาติมีที่มาจากธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ต้องอาศัยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า จึงมีลักษณะเหมือนธรรมชาติของมนุษย์ คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นกฎหมายที่สากลใช้บังคับกับทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา และทุกยุคทุกสมัย
ฮูโก โกรเชียส อธิบายวิธีค้นหาเหตุผลที่สอดคล้องกับกฎหมายธรรมชาติ
1.ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ใดมีสภาพที่มีเหตุผลและสอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นกฎหมายธรรมชาติ เช่น พรบ.เวนคืน ก็เป็นกฎหมายธรรมชาติ
2.ดูข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ว่ามีลักษณะเป็นสากลของธรรมชาติไหม เช่น ชายหญิงสมรสกัน

โธมัส ฮอบส์ นักปราชญ์ชาวอังกฤษ เห็นว่า ภายใต้สภาวะที่ไม่มีสังคม มนุษย์มีแต่ความหวาดระแวงไม่มีความปลอดภัย มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ มุ่งแสวงหาประโยชน์ใส่ตนโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น มนุษย์จึงต้องการหลีกหนีสภาวะตามธรรมชาตินี้โดยมาอยู่รวมกัน มีข้อตกลงในการอยู่รวมกันอย่างสันติ นั่นคือ สัญญาประชาคม แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันเพียงพอ จึงจำเป็นต้องมอบสิทธิตามธรรมชาติของตนให้แก่บุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ทุกคน
สัญญาประชาคมประกอบด้วย สัญญา 2 สัญญา
1.สัญญาที่มนุษย์หลีกหนีสภาวะตามธรรมชาติมาอยู่ร่วมกันเป็นรัฐ
2.สัญญาที่ทำไว้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้มีอำนาจในการปกครอง มีอำนาจในการออกฎหมาย
**แนวคิดนี้การที่มีสัญญาประชาคมจะทำให้มนุษย์เสียสิทธิตามธรรมชาติ ถ้ารัฐใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎร ราษฎรก็อาจโค่นล้มได้

จอห์น ล็อก นักปราชญ์ชาวอังกฤษ เชื่อว่ามนุษย์สละละทิ้งสภาวะตามธรรมชาติด้วยเหตุผลสองประการ
1.สภาวะตามธรรมชาติ ขาดองค์กรที่กระทำหน้าที่ลงโทษผู้ละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของผู้อื่น
2.ขาดองค์กรที่กระทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันมิให้สิทธิในร่างกายและทรัพย์สินถูกล่วงละเมิด
เมื่อมนุษย์ร่วมกันทำสัญญาประชาคม ก็เพื่อมีหลักประกันความมั่นคงแห่งสิทธิตามธรรมชาติ ดังนั้นแม้ว่าประชาคมจะมีอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกประชาคมให้น้อยลงได้ แต่ย่อมไม่อาจทำลายล้างสิทธิเสรีภาพทั้งปวงของสมาชิกซึ่งเคยมีอยู่ในสภาวะตามธรรมชาติได้
**แนวคิดนี้การที่มีสัญญาประชาคมจะทำให้มนุษย์เสียสิทธิตามธรรมชาติบางส่วน ถ้าสิทธิตามธรรมชาติใดทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยปกติสุขไม่ได้สิทธินั้นต้องเสีย

จัง จาคส์ รุสโซ เห็นว่า เสรีภาพและความเสมอภาคเป็นแก่นแท้ของความสุขของมนุษย์ เมื่อมนุษย์รวมตัวกันจึงต้องคิดค้นหารูปแบบการวมตัวเป็นสังคมที่สามารถให้หลักประกันอย่างเพียงพอแก่เสรีภาพและความเสมอภาค
ทฤษฎีสัญญาประชาคมเป็นที่มาของ “อำนาจอธิปไตยของปวงชน” เกิดจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชนตามความเห็นของรุสโซ สัญญาประชาคมก่อให้เกิดผลหลายประการ ประการแรก ร่างกายชีวิต และทรัพย์สิน ได้รับการคุ้มครองจากสังคมร่วมกัน ประการที่สอง เจตนารมณ์ร่วมกันของสังคมนี้ เป็นเจตนารมณ์ของสังคม ไม่ใช่ของบุคคล หรือกลุ่มคน
**แนวคิดนี้สัญญาประชาคม ทำให้มนุษย์ได้สังคมที่มีระเบียบทางการเมือง สังคมที่มีระเบียบทางการเมืองเป็นผลิตผลของวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้กลับมามีสิทธิเสรีภาพในสภาวะตามธรรมชาติที่เคยมีอยู่ดั้งเดิม แนวคิดนี้ไม่ทำให้มนุษย์เสียสิทธิตามธรรมชาติ

ดังนั้นที่มาของสิทธิมนุษยชน มาจากกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายธรรมชาติ คือ กฎหมายที่เกิดขึ้นเอง โดยมนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และใช้บังคับได้โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา

แนวคิดเหล่านี้มีทัศนคติที่คล้ายคลึงกันว่า ผู้ปกครองที่ชองจะต้องได้รับอำนาจการปกครองจากผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง ประชาชนในฐานะปัจเจกบุคคลมีสิทธิหรือเรียกร้องสิทธิอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของตนซึ่งไม่มีผู้ใดจะขัดขวางหรือพรากเอาไปได้ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมที่ดีขึ้น เช่น กระบวนการพิจารณาคดีที่มีการไต่สวนที่โหดร้ายทารุณ เรื่องทาส เรื่องการควบคุมกุมขังผู้กระทำความผิด เรื่องนักโทษถูกปฏิบัติในสภาพที่เลวร้าย เป็นต้น ส่งผลให้มีการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยม และเป็นพื้นฐานของการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น