วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236)LAW2036
เรื่อง สิทธิในชีวิต

            มนุษย์มีสิทธิบางประการที่ติดตัวมาแต่กำเนิดจนกระทั่งถึงแก่ความตาย ได้แก่ สิทธิในชีวิต เสรีภาพในร่างกาย และความเสมอภาค ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ และใครจะล่วงละเมิดมิได้ สิทธิเหล่านี้ คือ สิทธิตามธรรมชาติ เกิดมีมาเองโดยมนุษย์ไม่ได้ทำขึ้น เป็นสิทธิดั้งเดิม
            ต่อมามีการจัดทำปฏิญญาสากล โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาไว้ซึ่งสิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์ มาตรา 3 บัญญัติถึงสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน แต่ปฏิญญาไม่ใช่กฎหมาย เพราะไม่มีสภาพบังคับ จึงเป็นเพียงหลักการ เป็นแนวทางในการออกกฎหมาย กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในชีวิต อยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 มีผลบังคับใช้ 29 มกราคม 2540
            สิทธิในชีวิต มาตรา 6 บัญญัติว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยธรรมชาติในการดำรงชีวิต สิทธินี้ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีบุคคลใดสามารถล่วงชีวิตใครได้ แต่ถ้ารัฐใดมีความจำเป็นที่จะยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตก็สามารถทำได้ การลงโทษประหารชีวิตจะกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดเท่านั้น สำหรับผู้ที่ถูกพิจารณาโทษนั้น จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ถูกทรมานหรือลงโทษอย่างทารุณโหดร้ายและเมื่อถูกประหารชีวิตก็ควรจะใช้วิธีการที่ให้เกิดการทรมานต่อกายและจิตใจของผู้ถูกประหารชีวิตให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย
            มาตรา 6 (4) ได้กำหนดให้มีการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิในชีวิตไว้อีก โดยให้มีมาตรการช่วยบรรเทาโทษไม่ให้ประหารชีวิต ด้วยการให้สิทธิร้องขออภัยโทษหรือลดหย่อนโทษ การนิรโทษกรรม เพื่อพยายามไม่ให้มีการประหารชีวิต แต่ถ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การประหารชีวิตจะต้องไม่กระทำต่อบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และจะลงโทษต่อหญิงมีครรภ์ไม่ได้
            สิทธิในชีวิตตามมาตรา 6 นี้รัฐภาคีจะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามโดยกล่าวอ้างภาวการณ์ฉุกเฉินอันมีมาเป็นสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดปลอดภัยของชาติไม่ได้ แม้ว่า มาตรา 4 จะกำหนดให้รัฐภาคีสามารถหลีกเลี่ยงพันธกรณีต่าง ๆ ได้แต่ไม่อนุญาตให้เลี่ยงมาตรา 6 นี้โดยเด็ดขาด
            ด้านกระบวนการยุติธรรม มาตรา 9 ห้ามไม่ให้มีการจับกุมหรือคุมขังโดยพลการ หากมีการจับกุมหรือคุมขังก็จะต้องได้รับการชี้แจงในเวลาอันรวดเร็วถึงเหตุผลของการถูกจับกุมหรือแจ้งข้อหา การกักขังจะทำได้ในเวลาอันจำกัดเท่าที่จำเป็นตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้ และจะต้องได้รับการพิจารณาต่อหน้าศาลยุติธรรมโดยเร็วที่สุด มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีถูกจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
            มาตรา 10 สิทธิที่จะได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีและการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ให้การคุ้มครองบุคคลที่ถูกลิดรอดเสรีภาพ โดยบุคคลที่มีหน้าที่จะต้องคอยดูแลควบคุมตามวิธีการที่กำหนดไว้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องกระทำโดยมีมนุษยธรรมและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในบุคคลแต่ละคน รัฐควรแยกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดจากผู้ต้องโทษโดยมีมาตรการในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน และควรแยกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดที่เป็นเยาวชนจากผู้ใหญ่โดยให้มีการพิจารณาคดีโดยเร็วที่สุด ระบบราชทัณฑ์ จะต้องปฏิบัติต่อนักโทษด้วยความมุ่งหมายที่จะให้กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีและเป็นการฟื้นฟูทางสังคมด้วย
            มาตรา 14 ทุกคนย่อมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการพิจารณาของศาล มีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำผิด ทุกคนมีสิทธิได้รับหลักประกันขั้นต่ำอย่างเสมอภาค เช่นมีสิทธิได้รับแจ้งข้อหาในภาษาที่เข้าใจหรือมีล่าม ผู้ถูกกล่าวหามีเวลาและความสะดวกเพียงพอเพื่อต่อสู้คดีและติดต่อทนาย ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้า เป็นต้น
            ผู้ต้องหาเด็กต้องได้รับการประกันและคุ้มครองสิทธิเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ กระบวนการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงอายุและเน้นการส่งเสริมให้กลับคืนสู่สังคม ผู้ต้องโทษมีสิทธิได้รับการพิจารณาอุทธรณ์โดยศาลสถิตยุติธรรมในระดับสูงขึ้นไป มีสิทธิเรียกการชดเชยค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่มีการดำเนินกระบวนการทางยุติธรรมที่ผิดพลาด
            มาตรา 15 บุคคลมีสิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษย้อนหลัง มาตรานี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามได้ ตามมาตรา 4
            นอกจากนี้องค์กรสหประชาชาติยังได้ผลักดัน “พิธีสารเลือกรับฉบับที่สองแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต” ถูกบัญญัติเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก พิธีสารเลือกรับฉบับที่สองฯ นี้มีเจตจำนงที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในมาตรา 6 แห่งกติกาฯ คือสิทธิในชีวิต และเป็นไปตามหลักการของมาตรา 3 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ประกาศถึงสิทธิในชีวิตเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น