วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (LAW2036)

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236)  (LAW2036)
เรื่อง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

รัฐต่าง ๆ ผูกพันตามกฎบัตรสหประชาชาติที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนประชาชนมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง มีสิทธิในการดำรงชีวิตตามปกติของตนและสามารถดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติและเสรีภาพของตนได้อย่างเสรี การยอมรับศักดิ์ศรีประจำตัวและสิทธิซึ่งเสมอกันและไม่อาจโอนแก่กันได้ สิทธิเหล่านี้มาจากศักดิ์ศรีประจำตัวของบุคคล ปัจเจกบุคคล มีหน้าที่ต่อปัจเจกชนอื่นและต่อประชาชน มีความรับผิดชอบที่จะต่อสู้เพื่อส่งเสริมและการปฏิบัติตามสิทธิที่รับรองไว้ในกติกาฯ
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2542 และมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542
ตามมาตรา 2 กำหนดไว้ในกติกาฉบับนี้ใช้ได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติชนิดใด ๆ ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่น ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาดั้งเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น นอกจากนี้ยังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ที่จะประกันถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงในสิทธิทั้งปวงดังที่ได้ระบุไว้ในกติกานี้
ความผูกพันตามพันธกรณี หมายความว่า การผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่เป็นหลักการของกฎหมายนั้น ด้วยวิธีเหมาะสมกับทรัพยากรของชาติให้เป็นประโยชน์สูงสุด และควบคู่กันไปกับการพัฒนาประเทศ และถ้าจำเป็นต้องร่วมมือ และรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วยได้ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านเทคนิค และที่สำคัญต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม
มีข้อยกเว้น ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่จะกำหนดสิทธิที่ระบุไว้ในกติกาฯ ให้แตกต่างไปได้สำหรับคนชาติอื่น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนตามสมควร เพื่อไม่ให้ประเทศที่เจริญกว่าเอาเปรียบแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่รัฐภาคีอาจควบคุมและจำกัดสิทธิที่กำหนดไว้ในกติกาฯได้ ถ้าเป็นการสอดคล้องกับลักษณะของสิทธิและเพื่อเป็นการส่งเสริมสวัสดิการของสังคม
สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีทั้งหมด 9 ประการดังต่อไปนี้
1.สิทธิที่จะทำงาน มาตรา 6 กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกทำงานได้โดยอิสรเสรี
2.สิทธิที่จะมีสภาวะการทำงานที่ยุติธรรมและเหมาะสม มาตรา 7 ให้การคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน
-          การได้ค่าจ้างที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง
-          มีสภาวะการทำงานที่ปลอดภัยและถูกพลานามัย เป็นต้น
            3.สิทธิที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ตามมาตรา 8 รับประกันสิทธิที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมสหภาพแรงงานได้เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของตนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
            4.สิทธิที่จะได้รับการประกันสังคม ตามมาตรา 9 รวมทั้งการที่จะได้รับความช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคมอีกด้วย
            5.สิทธิครอบครัว มาตรา 10 เป็นสิทธิที่เน้นไปทางด้านผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ เนื่องจากครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม รัฐควรให้ความคุ้มครองตั้งแต่ชายหญิงรักกัน อยู่กินกัน เมื่อหญิงตั้งครรภ์ก็ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ สิทธิได้รับวันลาและเงินเดือน เด็กควรได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ คุ้มครองจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
            6.สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ มาตรา 11 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะปลอดจากความหิวโหย และมีมาตรฐานการครองชีพที่พอเพียง รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย
            7.สิทธิที่จะมีมาตรฐานแห่งสุขภาพที่ดี มาตรา 12 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีมาตรฐานแห่งสุขภาพทั้งทางกายและทางใจที่ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ในการนี้รวมถึงการลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอดและของเด็กแรกเกิด ป้องกันบำบัดและควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น และอื่น ๆ อีกด้วย
            8.สิทธิในการศึกษา มาตรา 13 ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา รัฐต้องจัดการศึกษาขั้นประถมให้เป็นการศึกษาภาคบังคับและเป็นแบบให้เปล่า ตามาตรา 14 ถ้ารัฐใดไม่สามารถจัดให้มีการศึกษาขั้นต่ำนี้ ในเมืองสำคัญ ๆ ได้ รัฐภาคีนั้นต้องหาทางจัดทำแผนเตรียมการให้มีการศึกษาประถมภาคบังคับแบบให้เปล่า
            9.สิทธิที่จะมีชีวิตทางด้านวัฒนธรรม มาตรา 15 รับรองสิทธิของทุกคนที่จะใช้ชีวิตทางด้านวัฒนธรรม และได้รับประโยชน์จากการคุ้มครอง ประโยชน์ทางด้านศีลธรรมและทางวัตถุที่เกิดจากการผลิตทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะซึ่งตนเป็นเจ้าของ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น