วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปย่อ LAW2036 การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

สรุปย่อ วิชา สิทธิมนุษยชน (LW446, LA236) LAW2036
เรื่อง การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

1.มหากฎบัตรแมกนาคาร์ตา ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13
            พระเจ้าจอห์น (John) กษัตริย์อังกฤษ ใช้อำนาจปกครองอย่างไม่เป็นธรรม ประชาชนได้รับความเดือดร้อนพวกขุนนางและนักบวชได้ลุกขึ้นต่อต้าน และบังคับให้พระเจ้าจอห์น ลงพระนามประกาศใช้กฎหมายฉบับหนึ่งคือ “The Great Charter” หรือ “มหากฎบัตรแมกนาคาร์ตา” (Magna Carta) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1215 ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารชิ้นแรกทางประวัติศาสตร์ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 63 ข้อ มีสาระสำคัญคือ
-          พระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากที่ประชุมของพวกนักบวชและพวกขุนนางไม่ได้
-          การงดเว้นใช้หรือไม่ใช้กฎหมายบังคับแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะกระทำไม่ได้ (เข้ากับหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย)
-          ได้บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ และการเดินทางออกนอกประเทศโดยเสรี
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีก คือ “The Act of Habeas Corpus” เป็นกฎหมายฉบับที่ 2 บัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. 1679 มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
-          ถ้าบุคคลใดถูกจับกุมโดยเห็นว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกจับกุมหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องขอโดยแสดงหลักฐานต่อศาลให้ทำการไต่สวน พิจารณาว่าการคุมขังดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ได้ (เทียบได้กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตารา 90)
-          เมื่อศาลได้รับคำร้อง จะออกหมายเรียกที่มีชื่อว่า “Habeas Corpus ad Subjicidum” เพื่อเรียกผู้ที่จับกุมกักขังและผู้ที่ถูกจับกุมมาศาล เพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลว่าการจับกุมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ต่อมาได้มีการประกาศใช้กฎหมาย “The English Bill of Rights” เป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1689 กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าให้กำเนิดวิธีการพิจารณาคดีโดยลูกขุน มีสาระสำคัญดังนี้
1.ในการพิจารณาพิพากษาคดีจะดำเนินคดีโดยไม่ชักช้า
2.ห้ามเรียกหลักประกันในการประกันตัวมากเกินไป
3.ห้ามลงโทษด้วยวิธีการอันโหดร้ายทารุณ
4.รับรองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยลูกขุน

2.การประกาศอิสรภาพของอเมริกา
            แต่เดิมคนอังกฤษกับคนฝรั่งเศสเกิดข้อขัดแย้งกันในการทำการค้าขนสัตว์ จนเกิดเป็นสงคราม เรียกว่า “French and Indian War” อังกฤษต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำสงครามเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาความสงบอีก รัฐบาลอังกฤษต้องการให้ชาวอาณานิคมร่วมออกค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ โดยออกกฎหมายเก็บภาษีเครื่องแก้ว กระดาษ ตะกั่ว และใบชา ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงการต่อสู้ขยายตัวรุนแรงมากขึ้นจนทั้ง 13 มลรัฐอาณานิคมตัดสินใจแยกตัวออกจากประเทศอังกฤษ โดยได้มอบให้ Thomas Jefferson (คนผิวขาวที่ไปอยู่อเมริกา แต่เดิมอเมริกามีอินเดียนแดงอยู่) ประกาศอิสรภาพ ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ซึ่งถือเป็นวันชาติของอเมริกา ในคำประกาศอิสรภาพได้ยืนยันถึงสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ไว้อย่างชัดเจน
            ในคำประกาศอิสรภาพได้มีการกล่าวอ้างถึงทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ และแนวคิดแบบเสรีนิยม ของ John Locke และกล่าวว่ารัฐบาลต้องมาจากความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง และมีอยู่เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของมนุษย์ในสังคมเท่านั้น
            ต่อมาได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1787 จนถึงปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญที่สำเร็จอยู่ 26 หัวข้อ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับสิทธิของปัจเจกบุคคล มีการออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม 10 ฉบับแรก ซึ่งถือว่าเป็นคำประกาศว่าด้วยสิทธิของสหพันธรัฐอเมริกา ซึ่งพอสรุปข้อความที่สำคัญได้คือ
1.การอนุญาตให้ประชาชนมีและถืออาวุธได้
2.การตรวจค้นบุคคล เคหสถาน ทรัพย์สิน หรือเอกสารจะต้องมีหมายค้น
3.จำกัดขอบเขตการใช้สิทธิมิให้ล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น
4.เลิกการมีทาสและการบังคับใช้โดยไม่สมัครใจ ยกเว้นเป็นการลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

3.การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส 1789
            ในศตวรรษที่ 18 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงทำพินัยกรรมยกราชบัลลังก์ให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งใน ค.ศ.1715 ทรงมีพระชนม์เพียง 5 พรรษา ในช่วงแรกจึงต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ
            พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แม้จะทรงมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม แต่ก็ไม่ทรงสนพระทัยที่จะบริหารราชการแผ่นดิน ขาดความเป็นผู้นำ และความมั่นพระทัยในตัวพระองค์เอง ทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยจนรัฐมีหนี้สินมาก ก่อให้เกิดความอยุติธรรมในด้านการเก็บภาษี ขณะเดียวกันได้นำประเทศเข้าไปพัวพันในสงครามคั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก ในที่สุดพระองค์เสด็จสวรรคตใน ค.ศ.1774 โดยทิ้งหนี้สินจำนวนมหาศาลไว้พร้อมกับท้องพระคลังที่ว่างเปล่า
            พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงสนพระทัยแต่เรื่องการล่าสัตว์ และทรงปล่องพระองค์ให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของพระมเหสี คือพระนางมารี-อองตัวแน็ต ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญญาทางการคลังอีกครั้งเมื่อฝรั่งเศสได้เข้าไปพัวพันในสงครามการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอเมริกา
            มองเตสกิเออ นักปรัชญาทางกฎหมายได้เขียนหนังสือชื่อ L’Esprit des Lois หมายถึง เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย เขาเห็นว่าควรมีสถาบันอื่น ๆ มาจำกัดการใช้อำนาจของกษัตริย์ และการใช้เสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดขอบเขตอันควร ควรมีการแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ (คืออำนาจอธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชน)
            ระบบการปกครองของฝรั่งเศสเป็นแบบเก่า การปกครองมีความสลับซับซ้อนและยุ่งเหยิงมาก ก่อให้เกิดปัญญาการบริหารบ้านเมือง ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาในเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทำให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสลุกขึ้นก่อการปฏิวัติใหญ่ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ซึ่งถือเป็นวันชาติของฝรั่งเศส โดยเข้าทำลายคุก Bastille ซึ่งกักขังนักโทษการเมือง และได้มีการจับกุมกษัตริย์ ราชินี ขุนนาง มาประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อ วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1789 สมัชชาแห่งชาติได้ประกาศใช้ “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น